กรมป่าไม้ปลดล็อกให้ตัด “ไม้หวงห้าม” 158 ชนิด “ไม้หายาก” อีก 13 ชนิดในที่ดินเอกชนและที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ทั้งโฉนด นส.3 ก. ใบจอง สค.1 โดยไม่ผิดกฎหมายหลังแก้กฎหมายป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่บังคับใช้มานานกว่า 78 ปีสำเร็จ มีผลบังคับใช้เดือน มี.ค. เผยคดีตัดไม้ในที่ดินตัวเองนับสิบคดีจะถูกนิรโทษกรรมทั้งหมด ชี้ที่ดินในมือเอกชน 136 ล้านไร่ถ้าปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3-0.7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและจะเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2563 ต้องหันมาปลูกไม้มีค่า

ข่าวดีของคนชอบปลูกต้นไม้เมื่อกรมป่าไม้ปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้ปรับแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ที่บังคับใช้มานานกว่า 78 ปี โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 7 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับไม้หวงห้ามที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการทำไม้ในที่ดินของประชาชนและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเสร็จเรียบร้อยแล้ว กฎหมายที่ปรับแก้กำหนดให้สามารถตัดไม้ยืนต้นได้โดยไม่ผิดกฎหมายในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง เช่น โฉนด นส.3 ก. ใบจอง สค.1 เป็นต้น หรือให้ยกเลิกไม้หวงห้ามในที่ดินเอกชนและที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวรอประกาศในราชกิจจาฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณ เดือน มี.ค. หรือเดือน เม.ย.2562

อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กฎหมายเดิมระบุว่า “ไม้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจบางชนิด ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดๆก็ตามในราชอาณาจักร ถือเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น” แต่กฎหมายใหม่ปรับแก้เป็น “ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม” ดังนั้น ให้การทำไม้โดยเฉพาะไม้มีค่า ไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่อีกต่อไป หรือกล่าวได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ยกเลิกการกำหนดไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินจะควบคุมเฉพาะไม้ในป่าเท่านั้น แต่ไม้ในที่ดินตามหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินในสิทธิครอบครองสามารถตัดได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกและตัดไม้ได้สะดวก ผลของการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคงจากการประกอบอาชีพทำไม้ปลูกป่าเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยดีขึ้น ในอนาคตใครที่มีที่ดินสามารถปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนเองได้ ถ้าไม้โตแล้วอยากตัดไปขาย ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้ว หรืออยากจะเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ทำได้เช่นกัน

อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวอีกว่า กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมไม้หวงห้าม จำนวน 158 ชนิด และไม้หายากอีก จำนวน 13 ชนิด คือ 1.กระเบา กระเบาน้ำ กระเบาใหญ่ 2.กำจัดต้น มะแข่น แขว่น มะข่วง ลูกระมาศ 3.กำยาน 4.จันทน์ชะมด 5.จันทน์หอม 6.จันทนา จันทน์ขาว 7.ตีนเป็ดแดง เยลูต 8.ปะ กระ 9.รง รงทอง 10.สนแผง สนใบต่อ แปกลม 11.สำรอง พุงทะลาย ท้ายเภา 12.แสลงใจ แสลงไหน แสลงทม แสลงเบื่อ แสงเบื่อ มะตึ่ง ตึ่งต้น บึงกา ตูมกา ตึ่งตูมกาขาว และ 13. แหลง แสลง ยวนผึ้ง ผึ้ง ลุง

ที่สำคัญผลของการแก้กฎหมายจะทำให้ผู้ที่โดนคดีตัดไม้ในที่ดินตัวเองหลายสิบราย ต้องพ้นโทษถือว่าไม่มีความผิดต้องปล่อยตัวออกหมด เพราะกฎหมายถือว่ามีคุณประโยชน์ พวกที่ถูกคดีอาญาต้องพ้นโทษ ติดคุกต้องปล่อย ขณะนี้กรมป่าไม้กำลังจัดงานมหกรรมไม้มีค่าหายาก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกไม้มีค่าทั่วประเทศ โดยในวันที่ 22-24 ก.พ. จะจัดที่อุทยานมังกรสวรรค์ จ.สุพรรณบุรี วันที่ 1-3 มี.ค.ที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 จ.ขอนแก่น วันที่ 8-10 มี.ค. ที่หอประชุมวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ด้านนายจุมพฎ ชอบธรรม ผอ.สำนักกฎหมาย กรมป่าไม้ กล่าวว่า การปรับแก้กฎหมายป่าไม้ 2484 จะทำให้ที่ดินของเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 42.74 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 138 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ ตกอยูในมือของนายทุนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 96 ล้านไร่ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าจะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น เพราะแรงจูงใจจากการปลดล็อกไม้ยืนต้นตัดได้ไม่ผิดกฎหมาย เอกชนจะหันมาปลูกต้นไม้มากขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3-0.7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2563 สมมติถ้าราคาที่ดินเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีประมาณ 7 แสนบาทต่อปี ถือว่าสูงมากแต่ถ้าปลูกต้นไม้หรือทำการเกษตรจะเสียภาษีถูกมากคือ 0.01 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งภาครัฐจะต้องหันมาสนใจส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมป่าไม้ทั้งระบบ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้วยังเป็นการลดการนำเข้าไม้จากต่างประเทศไปในตัว