มะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวน้ำหอม (Young Coconut / Aromatic Young Coconut)
จังหวัดที่มีเนื้อที่ปลูกมะพร้าวอ่อนมาก ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์
สมุทรสงคราม นครปฐม นครราชสีมา สงขลา และนครศรีธรรมราช ตามลำดับโดยเฉพาะ 3 อันดับแรก ซึ่งได้แก่ จังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมตั้งแต่ปี 2556-2561 อยู่ระหว่าง 57-61% และมีผลผลิตอยู่ระหว่าง 72-81% ของทั้งหมด พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย คือ พันธุ์ก้นจีบ ซึ่งให้ผลดกและเก็บเกี่ยวผลยาวนาน ปริมาณการส่งออกมะพร้าวอ่อนของไทย ในปี 2561 มีปริมาณ 134,659 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,548 ล้านบาท ประเทศส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และ ออสเตรเลีย

ประวัติมะพร้าวน้ำหอม
มะพร้าวน้ำหอมกลายพันธุ์มาจากมะพร้าวตระกูลหมูสีซึ่งมีถิ่นกำเนิดบริเวณลุ่มน้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม การกระจายพันธุ์เริ่มจากมีผู้มาซื้อพันธุ์จากฟาร์มอ่างทอง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร แล้วนำไปปลูกและคัดเลือกพันธุ์
ของตนเองในหลายพื้นที่ มีจุดเด่นเรื่องกลิ่นหอมมากกว่าคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย จึงทำให้มะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

ลักษณะพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม
มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชผสมตัวเองแต่มีโอกาสผสมข้ามพันธุ์ได้5 เปอร์เซ็นต์ (Whitehead, 1965 อ้างโดย
สถาบันวิจัยพืชสวน, 2562) ถ้าในแหล่งปลูกมีมะพร้าวพันธุ์ต้นสูงรวมอยู่ด้วย โอกาสที่เกิดการผสมข้ามก็จะมากขึ้นด้วยเนื่องจากมะพร้าวมีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอาศัยเพศเพียงอย่างเดียว จึงมีโอกาสที่มะพร้าวมีการผสมแบบข้ามต้นได้มากผลมะพร้าวก็จะกลายพันธุ์มากตามไปด้วย แม้จะมีหลักฐานยืนยันว่าในมะพร้าวน้ำหอมการบานของดอกตัวเมียจะเกิดขณะที่ดอกตัวผู้ยังร่วงไม่หมด การผสมตัวเองในมะพร้าวต้นเตี้ยจึงเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในมะพร้าวต้นเตี้ยจะไม่มีการผสมข้ามต้น ดังนั้นโอกาสที่จะกลายพันธุ์จึงมีเช่นเดียวกัน ปัญหาที่ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพบบ่อยๆ คือ ความหอมจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้ว่าหน่อพันธุ์ที่ปลูกจะเป็นพันธุ์แท้และเคยให้ความหอมมาก่อน

ความหอมของมะพร้าวน้ำหอม
มะพร้าวน้ำหอม จะมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ซึ่งเกิดจากสารให้กลิ่นหอมชื่อ 2–อเซตทิล-1-ไพโรลีน (2-acetyl1-pyrroline) เรียกย่อๆ ว่า 2-เอพี (2-AP) ปัจจุบันได้มีการศึกษาการค้นหายีนควบคุมความหอมในมะพร้าวน้ำหอม และในปี 2559 ผู้วิจัยได้ค้นพบยีนความหอม คาดว่าในอนาคตจะมีการใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคนิคอณูชีววิทยา(Molecular breeding) ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์และลดความแปรปรวนของพันธุ์

สาเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมไม่หอม
ความหอมของมะพร้าวน้ำหอมมีอิทธิพลมาจากละอองเกสรตัวผู้ที่มาผสมหรือซีเนียเอฟเฟค (Xenia effect)
ดังนั้นเมื่อดอกตัวเมียของมะพร้าวน้ำหอมได้รับการผสมจากเกสรตัวผู้จากมะพร้าวพันธุ์อื่น เช่น มะพร้าวน้ำหวาน หรือ
มะพร้าวใหญ่ จะส่งผลให้มะพร้าวไม่มีความหอม แปลงปลูกมะพร้าวน้ำหอมบางแปลงจะมีมะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าว
น้ำหวานอยู่ตามสวนใกล้เคียง ทำให้เพิ่มโอกาสการผสมข้ามได้มาก จึงเป็นสาเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมไม่หอมและไม่หวานจากการวิจัยการผสมพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมด้วยวิธีการควบคุมผสมพันธุ์แบบใกล้ชิด (controlled sib pollination) และผสมตัวเองภายในต้นเดียวกัน พบว่า ผลมะพร้าวที่ได้จากการผสมพันธุ์มีความหอม 100 เปอร์เซ็นต์(จุลพันธ์และคณะ, 2545) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยศึกษาอิทธิพลของซีเนียเอฟเฟค ของ ดร.จริงแท้และคณะ ที่พบว่า อิทธิพลเกสรตัวผู้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในคู่ผสมของมะพร้าวน้ำหอมกับมะพร้าวน้ำหอม ที่มีค่าความหอมและค่าสาร 2-AP สูงคล้ายกับในมะพร้าวน้ำหอมผสมตัวเอง (เปรม, 2558)

ข้อแนะนำในการทำสวนมะพร้าวน้ำหอม จึงควรปลูกห่างจากมะพร้าวอื่นอย่างน้อย 300 เมตร และควรมี
ต้นไม้ใหญ่รอบสวน เพื่อป้องกันเกสรตัวผู้ของมะพร้าวอื่นๆ มาผสม (กรกัญญา, 2558)

การพิจารณาความหอมของมะพร้าวน้ำหอม
จากการทดสอบความหอมโดยวิธีดมกลิ่นจากผู้ชำนาญ สามารถแบ่งความหอมได้เป็น 3 ระดับ คือ หอมน้อย
หอมปานกลาง และหอมชัดเจน โดยจะพิจารณาจากส่วนต่างๆ ดังนี้
(1) ปลายรากอ่อนของหน่อมะพร้าว
(2)กะลาของผลอ่อนสามารถพิสูจน์กลิ่นได้จากการผ่าผลอ่อนซึ่งกะลายังอ่อนกดแล้วเป็นรอยเล็บ
(3) น้ำและเนื้อมะพร้าว

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร