Female researchers examined tobacco leaves with a modern concept book.

ขั้นตอนการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอำนาจของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและตรวจสอบสินค้าเกษตร ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรไว้ ดังนี้

  1. การพิจารณาเรื่องที่สมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร

พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของสินค้าเกษตรที่จะกำหนดมาตรฐาน ตามความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ดังนี้

(1) เป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น มีมูลค่าการผลิตและส่งออกสูง การกำหนดมาตรฐานจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
(2) เป็นสินค้าหรือระบบที่กำลังมีการจัดทำหรือเปลี่ยนแปลงมาตรฐานระหว่างประเทศ จำเป็นต้องจัดทำมาตรฐานของไทยให้สอดคล้องกับสากล
(3) เป็นสินค้าที่มีปัญหาคุณภาพมาตรฐาน การจัดทำมาตรฐานจะเป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมและควบคุมคุณภาพที่ชัดเจน
(4) แก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้า
(5) คุ้มครองผู้บริโภค

  1. การแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร

คณะกรรมการวิชาการฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 กรรมการวิชาการต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับมาตรฐานตามประเภทหรือกลุ่มของสินค้าเกษตรที่ได้รับแต่งตั้ง โดยมีองค์ประกอบ จำนวนไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการวิชาการมีหน้าที่จัดทำร่างมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรหรือเสนอแนะในการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร รวมทั้งปฏิบัติงานทางวิชาการอื่นที่เกี่ยวกับมาตรฐานตามที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมอบหมาย

  1. การจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร

ศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเทคนิคภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานที่จะจัดทำขึ้น รวมทั้งมาตรฐานระหว่างประเทศ มาตรการ ข้อกำหนดกฎระเบียบ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ หรือ แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ เพื่อนำมาจัดทำร่างมาตรฐานฯ การจัดทำมาตรฐาน แบ่งเป็น 3 วิธี คือ
(1) การยกร่างใหม่
(2) การรับร่างมาตรฐานระหว่างประเทศแบบเหมือนกันทุกประการ
(3) การรับร่างมาตรฐานระหว่างประเทศแบบการเรียบเรียงใหม่

  1. การเสนอคณะกรรมการวิชาการพิจารณาร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร

คณะกรรมการวิชาการฯ ประชุมพิจารณาให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น คำแนะนำทางวิชาการต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อให้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร กำหนดให้ร่างมาตรฐานฯ นั้นเป็นมาตรฐานบังคับหรือมาตรฐานทั่วไป

  1. การประสานความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย

เป็นขั้นตอนเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรโดยใช้วิธีการสัมมนา หรือวิธีการอื่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติได้ โดยนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงแก้ไขร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ความเห็นชอบ กรณีข้อสรุปมีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถหาข้อยุติได้ หรือมีการแก้ไขในรายละเอียดของเนื้อหาในสาระสำคัญ ให้นำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรพร้อมประเด็นปัญหาเข้าพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการฯเพื่อหาข้อสรุป ก่อนนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ความเห็นชอบ

  1. การเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร

เมื่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการฯแล้ว ให้เสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประกาศร่างมาตรฐานนั้น เป็นมาตรฐานบังคับหรือมาตรฐานทั่วไปตามที่คณะกรรมการวิชาการฯเสนอ
กรณีคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีมติเห็นชอบให้เป็นมาตรฐานทั่วไป ให้ดำเนินการโดยออกเป็นประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป็นมาตรฐานทั่วไป
กรณีคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีมติเห็นชอบให้เป็นมาตรฐานบังคับ ให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ออกตามมาตรา 18ของ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 โดยสาระหลักคือการให้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์รายวัน อย่างน้อย 1 ฉบับ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน และให้เวลาแจ้งความคิดเห็นคัดค้าน ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน และให้นำผลการแสดงความคิดเห็นนั้นเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อประกอบการพิจารณาเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อออกเป็นกฎกระทรวง กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ อาศัยอำนาจตามความมาตรา 19 ของ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรอาจเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดให้สินค้าเกษตรใดอยู่ภายใต้มาตรฐานบังคับโดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นก็ได้

  1. การรับฟังความเห็นจากต่างประเทศตามพันธกรณีของการเป็นสมาชิก WTO (กรณีเป็นมาตรฐานบังคับ)

ในกรณีที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นชอบให้เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศตามพันธกรณีของความตกลง SPS หรือ TBT จะต้องมีการแจ้งสมาชิก WTO เพื่อรับทราบ กรณีที่มีข้อคิดเห็น คำถาม หรือข้อคัดค้านจากประเทศอื่น จะต้องนำเสนอคณะกรรมการวิชาการฯ พิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสม และนำผลการแสดงความคิดเห็นของการรับฟังความเห็นเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรอีกครั้งเพื่อทราบ/ประกอบการพิจารณาออกกฎกระทรวงประกาศเป็นมาตรฐานบังคับต่อไป

  1. การเสนอรัฐมนตรีลงนามในประกาศ/กฎกระทรวง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่มาตรฐานสินค้าเกษตร

มาตรฐานสินค้าเกษตรที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีมติเห็นชอบแล้ว นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อออกเป็นประกาศ/กฎกระทรวง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน พร้อมทั้งเผยแพร่มาตรฐานสินค้าเกษตรผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

  1. การทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตร

การทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตรจะพิจารณาดำเนินการเมื่อประกาศใช้มาตรฐานแล้วครบ 5 ปี ขึ้นไป หรือเมื่อมีข้อเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานนั้น เช่น มาตรฐานสากล สถานการณ์ทางการค้าหรือข้อมูลอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นเหตุให้มาตรฐานไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ หรือมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมข้อกำหนดในมาตรฐานเพื่อความครบถ้วน เพื่อให้มาตรฐานมีความเป็นปัจจุบัน และตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here