ช่วงนี้กระแสของโภชนาการต้านวัย (anti-aging nutrition) ค่อนข้างมาแรงนะครับ เพราะผู้คนล้วนแสวงหาหนทางที่จะทำให้อายุขัยตนเองยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดนี้ยังมีค่อนข้างน้อย แต่เนื่องจากหัวข้อนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เลยขออนุญาตหยิบยกมาหนึ่งประเด็นเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วใช่มั้ยครับว่าการสร้างสมดุลพลังงาน (ระหว่างพลังงานเข้าและออก) เป็นพื้นฐานของการควบคุมน้ำหนักตลอดช่วงชีวิต กุญแจสำคัญของการควบคุมน้ำหนักตลอดช่วงชีวิตคือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน (และจะดีมากถ้าเริ่มต้นตั้งแต่ยังเด็กครับ) ซึ่งทำได้หลากหลายวิธี ทั้งควบคุมปริมาณพลังงานเข้าไม่ให้มากเกินไป ร่วมกับการมีกิจกรรมทางกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงานครับ

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเราอายุมากขึ้น กลไกของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ มวลกล้ามเนื้อของเราจะลดลงตามอายุ ทำให้อัตราการใช้พลังงานขณะพักลดลง ดังนั้นการที่จะทำให้สมดุลพลังงานยังอยู่ได้ ก็ต้องปรับการบริโภคอาหาร ร่วมกับการเพิ่มการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เพื่อให้มวลกล้ามเนื้อไม่สูญสลายอย่างรวดเร็ว ยังคงระดับการเผาผลาญพลังงานไว้ให้ได้มากที่สุดครับ

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าการจำกัดพลังงาน (caloric restriction) สัมพันธ์กับการมีอายุขัยที่ยาวนานขึ้น และอัตราความแก่ที่ช้าลงครับ แต่ทว่ากลไกที่จะสามารถอธิบายได้นั้นยังไม่ชัดเจนมาก (และจริง ๆ อาจจะเป็นได้จากหลายสาเหตุ) แต่หลัก ๆ อาจจะเกี่ยวข้องกับการชะลอความเสื่อมของ telomere ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อยู่บริเวณปลายของโครโมโซม มีหน้าที่ช่วยปกป้อง DNA จากการถูกทำลาย ที่อาจเป็นต้นเหตุของความแก่และความเสื่อมสภาพของเซลล์ครับ อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วข้อมูลในมนุษย์ยังมีไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ครับ ว่าการจำกัดพลังงานจะมีผลอย่างเดียวกันในมนุษย์ แบบเดียวกับที่เห็นในสัตว์ทดลองหรือไม่ครับ

เมื่อมาดูที่งานวิจัยที่ทำในมนุษย์ มีงานวิจัยระยะสั้น ทำการจำกัดพลังงานผู้เข้าร่วมเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าตัวชี้วัดสองตัวที่บ่งชี้ถึงอายุขัย คือระดับอินซูลินขณะอดอาหาร และอุณหภูมิของร่างกาย ลดลงในช่วงที่มีการจำกัดอาหารครับ ส่วนงานวิจัยในระยะยาว ก็มีข้อมูลในสัตว์ทดลอง พบว่าในหนูที่มีการจำกัดพลังงาน มีอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองที่ลดลงครับ แต่อย่างที่บอกว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีนั้นเป็นงานวิจัยในสัตว์ทดลอง การที่จะนำผลการทดลองมาปรับใช้ในมนุษย์เลยคงเป็นอะไรที่เร็วไปครับ งานวิจัยในมนุษย์ที่ยาวที่สุด ทำค่อนข้างนาน คือ 24 เดือน พบว่า ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในมนุษย์ก็ลดลงไปพร้อมกับการจำกัดพลังงานด้วยครับ งานวิจัยนี้ทำในมนุษย์ที่น้ำหนักตัวปกติ เพราะมีข้อมูลว่าความอ้วนส่งผลให้เกิดการอักเสบในร่างกายได้ จึงต้องทำการควบคุมเพื่อตัดปัจจัยรบกวนสำหรับงานวิจัยครับ แต่ก็มีข้อมูลเพียงแค่เรื่องของตัวชี้วัดการอักเสบที่ลดลงครับ ส่วนเรื่องที่ว่าการอักเสบที่ลดลงนี้จะสัมพันธ์กับอายุขัยที่ยืนยาวจริง ๆ มั้ย ยังไม่มีใครตอบได้ครับ

ดังนั้น คำแนะนำของนักกำหนดอาหารในกรณีนี้จึงยังคงเป็นการกิน การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตให้สมดุล น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เท่าที่มีข้อมูลรองรับในตอนนี้ครับ ?