ในขณะที่กระแสความตื่นตัวเรื่องสุขภาพกำลังได้รับความนิยมสูง ทำให้การบริโภคผักอนามัย หรือผักปลอดสารพิษ ผักปลอดยาฆ่าแมลง พลอยได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสความตื่นตัวดังกล่าว
สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ จึงได้จับกระแสรักสุขภาพ โดยได้ศึกษาและวิจัยถึงชนิดของพืชพื้นบ้านที่เหมาะสมในการผลิตผักไมโครกรีน
รศ.อุดมลักษณ์ มัจฉาชีพ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ผักไมโครกรีนจัดว่าเป็นรูปแบบใหม่ ในการบริโภคผักของคนไทย ส่วนใหญ่เป็นไมโครกรีนจากผักต่างประเทศ คณะผู้วิจัยจึงมองว่า ผักพื้นบ้านของไทยนั้นก็สามารถนำมาปลูกในลักษณะของผักไมโครกรีนได้
เนื่องจากไมโครกรีนเป็นการผลิตผักในรูปต้นกล้าขนาดเล็กเพาะจากเมล็ดผักสมุนไพร และเมล็ดพืชอื่นๆ มีขนาดสูงของลำต้นประ มาณ 1-2 นิ้ว ประกอบด้วยลำต้นและใบจริง ต้นกล้าเหล่านี้หลายชนิดเป็นแหล่งของโปรตีน วิตามิน และสารแอนตี้ออกซิแดนต์สารอาหารที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ เกิดขึ้นภายในกระบวนการงอกของต้นกล้า โดยเปลี่ยนสารอาหารที่สะสมในเมล็ด ไปเป็นรูปที่ใช้ประโยชน์ได้
จุดเด่นของผักไมโครกรีนคือ ผลิตได้ตลอดปี การผลิตแต่ละรุ่น ใช้ระยะเวลาสั้น ปลอด ภัยจากสารเคมี เป็นทางเลือกในการบริโภคผักของผู้ใส่ใจสุขภาพ และเป็นการเพิ่มมูลค่าพืชพื้นบ้านอีกด้วย
รศ.อุดมลักษณ์กล่าวต่ออีกว่า การศึกษาในครั้งนี้ เพื่อหาพืชพื้นบ้านที่มีความเหมาะสมในการผลิตไมโครกรีน โดยเลือกชนิดของพืชพื้นบ้านที่มีจำนวนเมล็ดมาก มีเปอร์เซ็นการติดเมล็ดสูง ให้ต้นกล้ามีลักษณะน่ารับประทาน และรสชาติดี
นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของผักไมโครกรีนที่คัดเลือก โดยวิเคราะห์ ความชื้น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เส้นใย วิตามินซี เถ้า และวิเคราะห์หาปริมาณคลอโรฟิลล์ด้วยสารไดเมททิล ฟอร์มาไมด์
ผลจากการทด ลองสามารถคัดเลือกได้ 3 ชนิด ได้แก่ ผักขี้หูด ผักเขียวน้อย และโสน ซึ่งมีลักษณะอวบ ลำต้นสีขาวใบสีเขียวสด น่ารับประทาน
นอกจากนี้ จากการทดสอบการชิมและการยอมรับโดยรวม พบว่าอยู่ในเกณฑ์ ชอบ-ชอบมาก
ซึ่งโดยรวมแล้วผักขี้หูด มีกลิ่นฉุนและเฝื่อน เหมาะกินกับสลัดน้ำข้น หรือเหมาะรับประทานกับสเต๊กปลาจะทำให้รสชาติดีขึ้น และยังเหมาะกับอาหารไทยจำพวกลาบได้อีกด้วย
ผักเขียวน้อยมีจุดเด่นคือ รสชาติคล้ายวาซาบิ เหมาะรับประทานกับน้ำสลัดแบบใส และเหมาะรับประทานกับอาหารญี่ปุ่น เช่น ซูชิ
ส่วนโสนมีความสด กรอบ คล้ายถั่วงอก กินได้กับอาหารทุกประเภท
ผักทั้ง 3 ชนิด ยังมีสรรพคุณทางยาหลายประการ
ผักขี้หูด ใบและต้นช่วยเจริญอาหาร ขับลม เมล็ดใช้เป็นยา ช่วยย่อย แก้ร้อน ลดอาการกระหายน้ำ เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
ผักเขียวน้อย มีสรรพคุณในการยับยั้งเนื้องอก ยับยั้งการสร้าง lipid peroxide ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย ต้านการอักเสบ กระตุ้นการเจริญของเส้นผม มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร มีเส้นใยสูง
ส่วนของโสน ดอกเป็นยาฝาดสมาน ใบตำผสมกับคนประส่ง และดินสอพอง พอกฝีแก้ปวด ถอนพิษ ลำต้นเผาแช่น้ำดื่มเพื่อขับปัสสาวะ
ได้เวลาหันมากินผักไทยกันแล้ว